สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดร้อยเอ็ด
1. บึงพลาญชัยตั้งอยู่บริเวณกลางเมืองร้อยเอ็ด ถือเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด มีลักษณะเป็นเกาะอยู่กลางบึงน้ำขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 2 แสนตารางเมตร เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ตกแต่งเป็นสวนไม้ดอกขนาดใหญ่ มีพันธุ์ไมต่างๆ ร่มรื่นและในบึงน้ำมีปลาชนิดต่างๆ หลายพันธุ์มากมาย มีเรือสำหรับให้ประชาชนได้พายเล่นในบึง นอกจาก นั้นยังใช้เป็นสถานที่จัดงานเทศกาลของจังหวัด รวมทั้ง จัดมหรสพต่างๆ ภายในบึงพลาญชัยยังมีสิ่งก่อสร้างที่น่า สนใจ คือ ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เป็นที่เคารพบูชาของชาว ร้อยเอ็ด พระพุทธรูปปางลีลาขนาดใหญ่ กลางสวนดอกไม้ พานรัฐธรรมนูญ และนาฬิกาดอกไม้ ภูพลาญชัย มีลักษณะเป็นสวนสัตว์และน้ำตกจำลอง สนามเด็กเล่น นกชนิดต่างๆ สวนสุขภาพ เป็นสวนออกกำลังกาย เพื่อให้ประชาชนได้ออก กำลังกาย อันเป็นการเสริมสร้าง พลานามัยแก่ชาว ร้อยเอ็ด
2.พระมหาเจดีย์ชัยมงคล ตั้งอยู่ในบริเวณวัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วราราม บนยอดภูเขาเขียว แนวเทือกเขาภูพาน อำเภอหนองพอก ใกล้กันมีหน้าผาสูงชันซึ่งมีน้ำไหลตลอดปี ชาวบ้านเรียกว่า ผาน้ำย้อย พระมหาเจดีย์ชัยมงคล ได้รับการออกแบบให้เป็นศิลปกรรมร่วมสมัยระหว่างภาคกลางและภาคอีสาน เป็นการผสมผสานระหว่างพระปฐมเจดีย์และพระธาตุพนม เป็นพระเจดีย์ที่ใหญ่องค์หนึ่งของประเทศไทย มีความกว้าง 101 เมตร ความยาว 101 เมตร ความสูง 101 เมตร สร้างในเนื้อที่ 101 ไร่ มีทั้งหมด 5 ชั้น คือชั้นที่ 1 เป็นห้องโถงกว้างใหญ่ โดยรอบแกะสลักประดับแบบลายไทย มีรูปปั้นหลวงปู่ศรี มหาวีโร ผู้ก่อตั้ง ชั้นที่ 2 เป็นห้องประชุมสงฆ์ขนาดใหญ่ รองรับพระภิกษุสงฆ์ได้ 2,000-3,000 รูป ชั้นที่ 3 เป็นชั้นอุโบสถและประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ และรูปปั้นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังทั่วประเทศไทยถึง 101 องค์ ชั้นที่ 4 นอกจากจะเน้นภาพประดับสวยงามแล้ว ยังสามารถชมทัศนียภาพภูเขาเขียวได้ 4 ทิศชั้นที่ 5 เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน ระหว่างเวลา 06.00-17.30 น.การเดินทาง ใช้เส้นทางสายร้อยเอ็ด-อำเภอโพนทอง-อำเภอหนองพอก ระยะทาง 62 กิโลเมตร จากตัวเมืองร้อยเอ็ด ตามทางหลวงหมายเลข 2044 และ 2136
3.วัดบูรพาภิราม อยู่ในเขตเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เดิมชื่อวัดหัวรอ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น วัดบูรพาภิราม มีพระพุทธรูปปางประทานพรที่สูงที่สุดในประเทศไทยคือ พระพุทธรัตนมงคลมหามุนี หรือหลวงพ่อใหญ่ สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ที่ฐานพระพุทธรูปองค์นี้ เป็นห้องพิพิธภัณฑ์จำนวนหลายห้อง ความสูงขององค์พระวัดจากพระบาทถึงยอดเกศสูงถึง 59 เมตร 20 เซนติเมตร และมีความสูงทั้งหมด 67 เมตร 85 เซนติเมตร นอกจากนี้หลวงพ่อใหญ่ ยังเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัด และปรากฏอยู่ในคำขวัญของเมืองร้อยเอ็ดด้วย ด้านทิศตะวันออกของบริเวณวัดอยู่ติดกับคูรอบเมืองสมัยเก่า ซึ่งเป็นที่สร้างศาลาศาลเจ้าพ่อมเหศักดานุภาพ ซึ่งชาวเมืองร้อยเอ็ดเคารพนับถือมาก
4.กู่กาสิงห์ ตั้งอยู่ในวัดบูรพากู่กาสิงห์ ตำบลกู่กาสิงห์ กู่กาสิงห์ เป็นสถาปัตยกรรมแบบเขมรอีกแห่งหนึ่ง มีขนาดค่อนข้างใหญ่และยังอยู่ในสภาพดีพอควร ขณะนี้สำนักงานโบราณคดี และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานี กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่ง และบูรณะให้เห็นสภาพชัดเจนสวยงามยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ อีกแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ประกอบด้วย ปรางค์ 3 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน มีวิหารหรืออาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เรียกว่าบรรณาลัย อยู่ทางด้านหน้าทั้งสองข้าง ทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพงซึ่งมีซุ้มประตูทั้ง 4 ทิศ ถัดออกไปเป็นคูน้ำรูปเกือกม้าล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง
ปรางค์ประธานหรืออาคารหลักที่มี 3 องค์นั้น ตั้งเรียงอยู่บนฐานเดียวกันในแนวเหนือ-ใต้ แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปรางค์องค์กลางมีขนาดใหญ่กว่าอีก 2 องค์ที่ขนาบข้าง และมีมุขยื่นทางด้านหน้าเป็นห้องยาว มีประตูทางเข้า 3 ทาง คือด้านหน้าและด้านข้างของห้องยาวทั้งสอง ส่วนฐานขององค์ปรางค์ก่อด้วยศิลาทราย ยังคงปรากฏลวดลายสลักเป็นชั้นเป็นแนว เช่น ลายกลีบบัวและลายกนก ผนังก่ออิฐ ที่ห้องในสุดหรือส่วนครรภคฤหะได้ค้นพบศิวลึงค์ ซึ่งเป็นตัวแทนของเทพสูงสุด (พระอิศวร) และความอุดมสมบูรณ์ตามลัทธิความเชื่อ ในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย นอกจากนี้ยังพบทับหลังอีกหลายชิ้น ชิ้นหนึ่งสลักเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณในซุ้มเรือนแก้ว โดยยืนอยู่เหนือหน้ากาล ซึ่งมีมือยึดจับท่อนพวงมาลัยอีกทีหนึ่ง และยังได้พบซุ้มหน้าบันสลักเป็นภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณท่ามกลางลายก้านขดอีกด้วยส่วนปรางค์อีก 2 องค์ที่ขนาบนั้น มีขนาดและลักษณะเดียวกัน ฐานก่อด้วยศิลาทราย ผนังก่ออิฐมีประตูเพียงด้านหน้า ภายในมีแท่นรูปเคารพวางอยู่จากลวดลายของศิลปกรรม แบบแผนผังและโบราณวัตถุที่พบแสดงให้ทราบว่า กู่กาสิงห์สร้างขึ้นในแบบศิลปะเขมรที่เรียกว่า "แบบบาปวน" อายุราว พ.ศ. 1560-1630 เพื่อเป็นเทวสถานอุทิศถวายแด่พระอิศวร เทพเจ้าสูงสุดองค์หนึ่งในศาสนาพราหมณ์การเดินทาง สามารถเดินทางได้ 2 ทาง คือ ใช้เส้นทางร้อยเอ็ด-เกษตรวิสัย ทางหลวงหมายเลข 214 ระยะทาง 47 กิโลเมตร เดินทางต่อไปตามทางหลวงสายเกษตรวิสัย-สุวรรณภูมิ ประมาณ 10 กิโลเมตร มีทางแยกขวากู่กาสิงห์เป็นระยะทางอีก 10 กิโลเมตร หรืออาจใช้เส้นทางสายร้อยเอ็ด-สุวรรณภูมิ-สุรินทร์ (ทางหลวงหมายเลข 215 ต่อด้วย 214 ) ระยะทาง 60 กิโลเมตร ถึงวัดกู่พระโกนา ด้านตรงข้ามวัดมีทางแยกไปกู่กาสิงห์ ระยะทางอีก 18 กิโลเมตร
5.กู่พระโกนา ตั้งอยู่ที่บ้านกู่ วัดกู่พระโกนา หมู่ 2 ตำบลสระคู ปัจจุบันมีวัดสร้างอยู่ในบริเวณเดียวกัน กู่พระโกนา ประกอบด้วย ปรางค์อิฐ 3 องค์ บนฐานศิลาทราย เรียงจากเหนือ-ใต้ ทั้งหมดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีกำแพงล้อมและซุ้มประตูเข้า-ออกทั้ง 4 ด้าน ก่อด้วยหินทรายเช่นกัน ปรางค์องค์กลางถูกดัดแปลงเมื่อ พ.ศ. 2417 โดยการฉาบปูนทับและก่อขึ้นเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นมีซุ้มพระทั้ง 4 ทิศ หน้าปรางค์องค์กลางชั้นล่าง สร้างเป็นวิหารพระพุทธบาทประดับเศียรนาค 6 เศียรของเดิมไว้ด้านหน้า ส่วนปรางค์อีก 2 องค์ ก็ได้รับการบูรณะจากทางวัดเช่นกัน แต่ไม่ถึงกับเปลี่ยนรูปทรงอย่างปรางค์องค์กลาง ปรางค์องค์ทิศเหนือทางวัดสร้างศาลาครอบ ภายในมีหน้าบันสลักเรื่องรามายณะ และทับหลังสลักภาพพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ติดอยู่ที่เดิม คือเหนือประตูทางด้านหน้า ส่วนทับหลังประตูด้านทิศตะวันตกหล่นอยู่บนพื้น เป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ ปรางค์องค์ทิศใต้ยังคงมีทับหลังของเดิมเหนือประตูหลอกด้านทิศเหนือ เป็นภาพเทวดานั่งชันเข่าในซุ้มเรือนแก้วเหนือหน้ากาล นอกจากนี้ทางด้านหน้ายังมีทับหลังหล่นอยู่ที่พื้น เป็นภาพพระอิศวรประทับนั่งบนหลังโค และมีเสานางเรียงวางอยู่ด้วย สันนิษฐานว่า กู่พระโกนาเดิมจะมีสะพานนาคและทางเดิน ประดับเสานางเรียงทอดต่อไปจากซุ้มประตูหน้าไปยังสระน้ำ หรือบารายซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 300 เมตร จากรูปแบบลักษณะทางศิลปกรรมทั้งหมดของภาพสลัก และเสากรอบประตู ซึ่งเป็นศิลปะขอมที่มีอายุในราว พ.ศ. 1560-1630 (แบบบาปวน) สันนิษฐานว่ากู่พระโกนาคงจะสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่16การเดินทาง อยู่ห่างจากอำเภอเมือง 60 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 215 ผ่านอำเภอเมืองสรวง อำเภอสุวรรณภูมิ จากนั้นเข้าทางหลวงหมายเลข 214 ไปประมาณ 12 กิโลเมตร ถึงกู่พระโกนา อยู่ทางซ้ายมือ ด้านหน้าทางเข้าจะเป็นสวนยาง บริเวณวัดมีลิงแสมอาศัยอยู่
1 ความคิดเห็น:
น่าเที่ยวทั้งนั้นเรยอ่ะ
แสดงความคิดเห็น